บูทีคอพาร์ตเม้นท์แบบ อีโค+ เคาเจอรัลดีไซน์ |
ผมขอนำเสนอ แนวทางการออกแบบที่ผมขอเรียกว่า “อีโค+เคาเจอร์รัลดีไซน์” (ECO+CULTURAL DESIGN) ซึ่งแนวคิดหลักอันเป็นพื้นฐานสำคัญนี้ชาวคนรักบ้านสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้กับบ้านไม่บานรวมไปถึง อพาร์ตเม้นท์ไม่บาน ไม่ว่าจะเป็นอาคารบ้านเรือนที่มีขนาดเล็กหรือใหญ่ก็สามารถนำแนวทางดังกล่าวมาใช้ได้เหมือนกันครับ แนวคิดแบบ “อีโค + เคาเจอรัลดีไซน์” คือ การใช้หลักในการออกแบบที่งามง่าย สวยนานแบบพอเพียง อ่อนน้อม ถ่อมตน ให้เกียรติกับสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ ที่เรามักเรียกว่า ระบบอีโคซิสเต็ม (ECO – SYSTEM) หรือระบบนิเวศวิทยาซึ่งเป็นการให้เกียรติกับ ดิน ฟ้า อากาศ สายลม สายฝน แสงแดด พืชพรรณไม้และสรรพสิ่งที่มีชีวิตที่จะต้องนำเอามาเป็นปัจจัยสำคัญในการออกแบบ และขณะเดียวกันก็ไม่ลืมของดีมีอยู่ในท้องถิ่นนั้นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งศิลปวัฒนธรรมพื้นถิ่น ประเพณีโบร่ำโบราณที่ตกทอดกันมานานหลายช่วงอายุคนที่บางอย่างถูกกระแสทุนนิยมที่มาพร้อมกับสังคม “แดกด่วน” ประเภทฟาสฟู้ด (แม้แต่จะแดกก็ยังต้องด่วน อันเป็นคำจำกัดความของท่าน ศจ.ดร. ชัยอนันต์ สมุทรวาณิช) ละทิ้งของดีที่มีอยู่ให้กลายเป็นของเชยล้าสมัย ซึ่งแนวคิดแบบ “อีโค + เคาเจอรัลดีไซน์” ยังเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของกระบวนการฟื้นบ้าน ฟูเมือง อนุรักษ์สืบสานและพัฒนาศิลปวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณี สิ่งไหนยังเข้มแข็ง แข็งแรงดีสามารถรับใช้สังคมได้ดี ก็รักษาเอาไว้ สิ่งไหนที่ลบเลือนไปก็ฟื้นฟูปรับปรุงขึ้นมาใหม่เป็นกระบวนการ “อนุรักษ์” แล้วก็ “สืบสาน” รวมทั้ง “พัฒนา” ต่อยอดให้ก้าวไปพร้อมกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ วิถีชีวิตรูปแบบใหม่ ๆ เป็นการแสวงหาจุดสมดุลที่จะอยู่ร่วมกันของ “ระบบทุนนิยม” และ”ระบบชุมชนนิยม” เพราะถ้าใช้ “ระบบทุนนิยม” นำอย่างเดียว ประเทศไทยก็คงจะไม่เหลืออะไร เพราะกลุ่มทุนข้ามชาติที่มีทุนมากกว่าก็จะคืบคลานเข้ามาครอบงำไปจนหมดสิ้นทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นของเราก็ต้องล่มสลายลงในที่สุด แต่หากเป็น “ชุมชนนิยม”อย่างเดียวก็คงเป็นประเภทอนุรักษ์นิยมเต่าล้านปีที่ยึดติดกับอดีตมีจิตใจคับแคบปฏิเสธการเปลี่ยนแปลงไปของโลก ดังนั้นแนวทางการออกแบบ “อีโค + เคาเจอรัลดีไซน์” ที่ผมกำลังจะพูดถึงนี้จึงเป็นแนวทางการทำงานที่ใช้แนวคิดแบบพอเพียงในลักษณะเดินสายกลางที่ทางศาสนาเรียกว่า “มัฌชิมาปฏิปทา” เป็นการก้าวเดินไปข้างหน้าอย่างสมดุลย์โดยไม่ลืมหอบหิ้วเอาของดีมีอยู่ในอดีตตามไปด้วยและในขณะเดียวกันก็ไม่ปฏิเสธความทันสมัยทั้งในด้านเทคโนโลยีและศิลปะวิทยาการสมัยใหม่รวมทั้งปรัชญาความเชื่อใหม่ๆ แต่ที่ผมพูดไปทั้งหมดก็อย่าเพิ่งเชื่อผมครับ แต่อยากให้แฟนๆ ชาวคนรักบ้านได้ติดตามวิธีคิดแบบ “อีโค + เคาเจอรัลดีไซน์” ที่นิยมนำมาใช้ในการออกแบบบูทีคอพาร์ตเม้นท์ที่งามง่าย พอเพียง สำหรับนักศึกษา มช. และที่พักราคาประหยัดนักเดินทางในลักษณะเกสเฮ้าท์ในย่านวัดอุโมงค์ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ แนวคิดแบบอีโค+เคาเจอรัลดีไซน์นี้สามารถแยกออกเป็น 2 ส่วนครับซึ่งในส่วนแรกที่ผมมักจะเรียกว่า อีโคดีไซน์ ก็คือ การออกแบบอาคารบ้านเรือนให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมไม่ก่อให้เกิดมลภาวะหรือทำให้เกิดผลกระทบต่อความสมดุลย์ของระบบนิเวศน์หรือระบบอีโคซิสเต็ม(ECO-SYSTEM) โดยรวม แต่ถึงกระนั้นในบางครั้งที่ผมต้องทำงานออกแบบเพื่อที่จะทำการก่อสร้างอาคารบ้านเรือนบนพื้นที่ที่อุดมไปด้วยบริบททางประวัติศาสตร์ สำหรับผมแล้วแนวคิดแบบอีโคดีไซน์แต่เพียงอย่างเดียวก็ยังไม่สามารถตอบโจทย์ของผมได้อย่างครบถ้วน ทำให้ผมต้องเพิ่มแนวคิดแบบเคาเจอรัลดีไซน์ที่ว่าด้วยศิลปะวัฒนธรรมพื้นถิ่น นำมาผสมผสานและสร้างความสมดุลทางความคิดและการลงมือปฏิบัติทำให้เกิดเป็นอาคารที่งามง่าย พอเพียง อันเป็นทั้งที่รักและที่พัก และในขณะเดียวกันก็พยายามควบคุมราคาค่าก่อสร้างและการตกแต่งภายในมิให้มีราคาสูงจนเกินไป สำหรับส่วนที่สองในส่วนแนวคิดแบบเคาเจอรัลดีไซน์ คือ กระบวนการในการทำงานออกแบบในลักษณะอ่อนน้อมถ่อมตนเป็นปฐม ลดมานะฐิติ ความเชื่อมั่น ถือมั่นในตัวตนของสถาปนิกผู้ออกแบบลงให้เหลือน้อยที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้และจำเป็นต้องให้เกียรติแก่ศิลปะวัฒนธรรมพื้นถิ่น ซึ่งเป็น “ของดีที่มีอยู่” อันเป็นมรดกตกทอดทางภูมิปัญญาของภูมิบ้าน ภูมิเมืองและภูมิสังคม ในขณะเดียวกันก็ไม่ดูแคลนว่าบรรดา “ของดีมีอยู่” ของชุมชนท้องถิ่นเหล่านี้ว่าเป็นสิ่งที่เชยและล้าสมัย แต่ในทางตรงกันข้าม ต้องพึงเตือนสติตัวเองอยู่เสมอว่าเราเป็นคนไทย ศิลปะวัฒนธรรมต่าง ๆ เหล่านี้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของเราที่ผ่านกระบวนการอนุรักษ์,สืบสานและพัฒนา ส่งต่อกันมาเป็นทอด ๆ จากรุ่นหนึ่งสู่อีกรุ่นหนึ่งยืนยาวนานมานานนับร้อย นับพันปี การที่เราไปหลงใหลได้ปลื้มไปกับวัฒนธรรม “แดกด่วน” ที่มาพร้อมกับกระแสโลกาภิวัฒน์หรือโลกาวิบัติของบรรดาฝรั่งตาน้ำข้าว หรือพวกเกาหลี, ญี่ปุ่นตาชั้นเดียว หลงใหลได้ปลื้มไปกับการเรียนรัดแบบง่าย ๆ กับวัฒนธรรมสำเร็จรูปโดยการนำเข้า (Import) เห่อของนอกว่าล้ำสมัย เป็นของดีวิเศษจำเป็นต้องลอกเลียนแบบเพียงแค่กลัวว่าจะเชยไม่ทันสมัย ทำให้ไม่กล้าที่จะหอบหิ้ว “ของดีที่มีอยู่” รอบตัวที่พวกเรามักจะดูถูกดูแคลนว่าเชยล้าสมัยไปพร้อมกับการพัฒนาที่หลงไปว่าจะนำเราไปสู่ความทันสมัย สำหรับคนที่เคยใช้ชีวิตอยู่ในสังคมตะวันตกร่วม 10 ปี อย่างผมก็สารภาพตามตรงครับว่า มีช่วงหนึ่งของชีวิตที่ผมไม่ใส่ใจอีกทั้งดูแคลนของ “ดีมีอยู่” ที่บรรพบุรุษได้ทิ้งเอาไว้ให้ เปรียบเสมือนกับโจรกลับใจนั่นหละครับ ยูเทิร์นกลับมาแบบผมเถอะครับบรรดาหมู่เฮาชาวคนรักบ้าน กลับมาแสวงหาความงดงามที่ซ่อนเร้นอยู่อย่างเงียบเชียบ เรียบง่าย ในศิลปะ วัฒนธรรมพื้นถิ่นอันงดงามของบ้านเรา จะว่าไปแล้วในดินแดนแห่งทองหรือสุวรณภูมิผืนนี้ที่ไม่ว่าใคร หรือชนชาติใดต่างก็หลงใหลใฝ่ฝันอยากเหลือเกินที่จะเข้ามาพำนักพักอาศัย ตักตวง กอบโกย ผลประโยชน์ จากทรัพยากรอันอุดมสมบูรณ์และทรงคุณค่ายิ่งของพวกเราดังนั้นการรู้เท่าทันกับสถานการณ์ดังกล่าวจึงเป็นเรื่องจำเป็นครับ แนวคิดแบบอีโค+เคาเจอรัลดีไซน์ก็เป็นจุดกำเนิดที่สำคัญของการรังสรรค์งานออกแบบบูทีคอพาร์ตเม้นท์ ในย่านวัดอุโมงค์ จ.เชียงใหม่ สำหรับผมแล้วอาคารงามง่ายหลังนี้เป็นศักดิ์เป็นศรี เป็นคุณงามความดีประดับเวียงเชียงใหม่เมืองโบราณที่มีอายุกว่า 700 ปี และต้องขอขอบคุณอย่างจริงใจกับน้องผึ้ง หรือ คุณสุพรรษาและคุณพ่อ คุณแม่ รวมทั้งท่านครูบาเจ้าบุญชุ่ม ญาณสวโร พระอริยสงฆ์ แห่งดินแดนอารยธรรมโบราณล้านนาที่ท่านเป็นทั้งกำลังบุญและกำลังใจ ทำให้ผมมีมานะพยายามสามารถทำงานลักษณะนี้ จะว่าไปแล้วการออกแบบในแนวอีโค+เคาเจอรัลดีไซน์ สถาปนิกต้องทำงานหนักเป็นสองเท่า เพราะต้องศึกษาด้านศิลปะวัฒนธรรม ที่มีอายุทับถมกันหลายร้อยปีแต่ยิ่งศึกษาก็ยิ่งค้นพบและก็ยิ่งเกิดความภูมิใจและเบิกบานใจเป็นอย่างยิ่งครับ ที่สำคัญการทำงานลักษณะนี้จะไม่สามารถเรียนลัดได้เป็นอันขาด เมื่ออาคารเสร็จสมบูรณ์เป็นรูป เป็นร่าง ถึงแม้ว่าจะอยู่ในกระดาษแต่ทุกคนก็หายเหนื่อยและพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า การทำงานภายใต้กรอบแนวคิดแบบอีโค+เคาเจอรัลดีไซน์นั้น ช่างคุ้มค่าเสียจริง |