อาคารสหกรณ์ที่พอเพียง

อาคารสหกรณ์ที่พอเพียง 

                อพาร์ตเม้นต์ไม่บานหลังนี้ มีแฟน ๆ ชาวเมืองเพชรบุรีที่ท่ายาง โดยคุณเอนก  ดุลบุตร ซึ่งท่านเป็นประธานกรรมการสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนรวมน้ำใจท่ายาง ได้ติดต่อมาอยากให้เราออกแบบอาคารสหกรณ์ที่พอเพียง ภายใต้งบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัดไม่บานปลาย ทางทีมงานบ้านไม่บานซึ่งประกอบด้วยอาจารย์เชี่ยวหัวเรือใหญ่รวมทั้งบรรดาสถาปนิกและวิศวกรได้ประชุมร่วมกันโดยพิจารณาอย่างรอบคอบแล้วเห็นว่าจะตกลงปลงใจทำให้เต็มที่สุดฝีมือเพราะเล็งเห็นว่า กิจการสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนนั้นเป็นหัวใจสำคัญของประเทศ เพราะทำธุรกิจธุรกรรมในเรื่องที่เกี่ยวกับการออม ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญอีกประการหนึ่งของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง หลังจากที่เราได้ทำงานอย่างหนักต่อเนื่องกันมาตลอดระยะเวลา  4  เดือน  จึงได้รูปแบบอาคารสหกรณ์ที่พอเพียง โดยพัฒนามาจากพื้นฐานทางความคิดในการออกแบบดังนี้ครับ

อาคารสหกรณ์ที่พอเพียง

          หากจะว่าไปแล้วเมืองเพชรบุรีนั้นเป็นเมืองที่เก่าแก่และอุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาตินานับประการรวมทั้งบริบททางประวัติศาสตร์ ทีมงานบ้านไม่บานจึงได้พิจารณาคัดเลือกเอาสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นของเมืองเพชร  ที่เป็นที่รู้จักกันทั่วทั้งประเทศ  3   แห่ง  โดยเริ่มจากพระนครคีรี  เป็นพระราชวังที่ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 4 ได้ทรงสร้างเอาไว้และพระราชวังบ้านปืนหรือพระรามราชนิเวศน์ที่สร้างขึ้นในช่วงรอยต่อของล้นเกล้าฯรัชกาลที่ 5 และ 6 โดยผลงานของสถาปนิกวิศวกรชาวเยอรมัน ชื่อนายคาร์ล ดอร์ริ่ง  และพระราชวังอีกที่หนึ่ง คือ พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน ที่ล้นเกล้าฯรัชกาลที่  6  ได้ทรงมีพระราชดำริให้สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นที่ประทับตากอากาศ ซึ่งพระราชนิเวศน์มฤคทายวันนี้แหละครับเป็นกลุ่มเรือนพักอาศัยทรงปั้นหยาและใช้ไม้สักเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการก่อสร้างจัดได้ว่าเป็นกลุ่มเรือนที่สวยที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศครับ นอกจากนั้นยังสะท้อนความงดงามของการผสมผสานของเรือนพักสมัยใหม่กับสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นอย่างลงตัว เป็นของดีมีอยู่ที่พวกเราในปัจจุบันจำเป็นต้องศึกษา  ค้นคว้า ให้ลึกลงไปถึงแก่นแท้แห่งองค์ความรู้ที่บรรพบุรุษได้ทิ้งเอาไว้เป็นมรดกทางศิลปวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าให้แก่เรา

อาคารสหกรณ์ที่พอเพียง

                จะว่าไปแล้วกระบวนการออกแบบอาคารสหกรณ์ที่พอเพียงที่ท่ายางเมืองเพชรบุรีแห่งนี้เป็นกระบวนการทำงานที่เต็มไปด้วยความสุขครับ  เพราะยิ่งศึกษาลึกลงไปเท่าไหร่ก็ยิ่งได้รู้และได้เข้าใจภูมิปัญญาในอดีตที่เป็นรากฐานที่สำคัญของปัจจุบันมากขึ้นเท่านั้นและจะทำให้เราก้าวไปสู่อนาคตอย่างมั่นคงรวมทั้งการรู้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงไปตามกระแสโลกาภิวัฒน์  นอกจากนั้นการที่คณะทำงานได้หลอมรวมเอาสถาปัตยกรรมโดดเด่นของพระราชวังทั้งสามที่ได้สร้างขึ้นที่เมืองเพชรทำให้ตัวอาคารสหกรณ์ท่ายางมีเสน่ห์ สวยงาม โดดเด่นขึ้นมาอย่างประหลาด  สำหรับผมแล้วนับได้ว่าเป็นก้าวสำคัญอีกก้าวหนึ่งของการพัฒนารูปแบบสหกรณ์ที่พอเพียงไปสู่อนาคตโดยไม่ลืมรากเง้าของตัวเอง     เนื่องจากเนื้อที่มีจำนวนจำกัดเอาไว้อาทิตย์หน้ามาคุยกันต่อในเรื่องรูปแบบสหกรณ์ที่พอเพียงกันต่อครับ

อาคารสหกรณ์ที่พอเพียง

          จะว่าไปแล้วการทำงานออกแบบอาคารที่พอเพียงหลังนี้  เป็นกระบวนการทำงานที่เต็มไปด้วยความสุขครับ  เพราะประการแรก  เป็นการทำงานที่ปราศจากความคิดในเชิงพาณิชย์ใด ๆ  คือ ในส่วนตัวผมแล้วไม่มีค่าแรง  คือ  ไม่ได้เรียกร้องค่าใช้จ่ายใด  ๆ กับทางสหกรณ์ มิหนำซ้ำยังต้องควักกระเป๋าเอาเงินส่วนตัวหลายหมื่นบาทไปช่วยเสียด้วยซ้ำในตลอดระยะเวลากว่า 4 เดือนที่ได้เริ่มทำงานในโครงการนี้   ประการที่สอง  ผมต้องการพิสูจน์ในสิ่งที่ผมเชื่อว่า  การพัฒนาใด ๆ นั้นจะมั่นคง ยั่งยืนอย่างแท้จริงได้ต้องเป็นการพัฒนาที่ผลิหน่อ  ต่อยอด มาจากรากแก้วของชุมชนนั้น ๆ จึงเกิดเป็นแนวทางที่เรานำเอารูปแบบสถาปัตยกรรมที่เป็นประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่คนเมืองเพชรมีความภูมิใจและก่อให้เกิดเป็นเอกลักษณ์ของคนเมืองเพชร โดยผมได้เอารูปแบบของพระราชวังสำคัญทั้ง 3 แห่ง  ที่ตั้งอยู่ใน จ.เพชรบุรี มาหลอมรวมกัน   อันได้แก่  พระราชวังพระนครคีรี  ที่สร้างขึ้นในสมัยล้นเกล้ารัชกาลที่ 4     พระราชวังบ้านปืนหรือพระรามราชนิเวศน์  ที่สร้างขึ้นในช่วงรอยต่อของล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 และ รัชกาลที่ 6 และ พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน     ที่สร้างขึ้นในสมัยล้นเกล้ารัชกาลที่ 6    พระราชวังทั้ง 3 แห่ง ที่ผมได้กล่าวมานี้เป็นของพระมหากษัตริย์ในอดีตถึง 3 พระองค์และเป็นความภาคภูมิใจอย่างยิ่งของชาวเมืองเพชร  นี่ยังไม่ได้นับรวมพระราชวังไกลกังวล หัวหิน ซึ่งในหลวงทรงใช้เป็นที่ประทับ  ถึงผมจะไม่ได้เป็นชาวเมืองเพชรโดยกำเนิดแต่ก็พอมีผลงานฝากฝีไม้ลายมือไว้ที่เพชรบุรีหลายชิ้นและก็อดภูมิใจแทนคนเมืองเพชรไม่ได้ที่ผืนดินนี้มีพระมหากษัตริย์หลายพระองค์ได้ทรงประทับที่นี่    แม้แต่สมเด็จพระนเรศวรมหาราช  ยามที่พระองค์ทรงว่างจากการรบทัพจับศึกท่านก็ทรงเคยเสด็จมาประทับ พักผ่อน พระอริยาบทพร้อมข้าราชบริพาร ที่เมืองเพชร  มีนักประวัติศาสตร์หลายท่านกล่าวเอาไว้ว่า  หากต้องการดูศิลปกรรมอยุธยาตอนปลายแท้ ๆ ก็ต้องมาดูกันที่เมืองเพชรนี่หละครับ   เพราะครั้งที่คนไทยแตกแยกขาดความรู้รักสามัคคีจนเสียกรุงเมื่อ  พ.ศ. 2310  นั้น  พระนครศรีอยุธยา ฯ ก็ถูกกองทัพพม่าเผาทำลายลงจนสิ้น  แต่เมืองเพชรบุรียังคงรักษาความเป็นชุมชนเมืองเอาไว้ได้ก่อเกิดเป็นสกุลช่างเมืองเพชรที่มีลักษณะโดดเด่นในแขนงต่าง ๆ เช่น  ช่างปรุงเรือนไทยเมืองเพชร , ช่างปูนปั้นเมืองเพชร , ช่างทองเมืองเพชรและสกุลช่างอีกหลายต่อหลายแขนงอันเป็นของดีมีอยู่ที่ต้องอนุรักษ์สืบสานและพัฒนาไว้มิให้สูญหาย

อาคารสหกรณ์ที่พอเพียง

                การดำเนินงานออกแบบอาคารสำนักงาน สหกรณ์เครดิตยูเนียนท่ายางแห่งนี้  จึงเป็นเสมือนก้าวสำคัญอีกก้าวหนึ่งที่คนเมืองเพชรได้อนุรักษ์สืบสานและพัฒนารูปแบบอาคารบ้านเรือนที่แม้จะดำเนินการก่อร่างสร้างขึ้นมาใหม่แต่ก็เป็นการพัฒนาอย่างไม่ลืมรากเหง้าไม่ลืมบรรดาของดีที่มีอยู่ของตัวเอง  นี่หละครับเป็นสาเหตุสำคัญที่ผมและคณะทำงานชาวบ้านไม่บานได้เล็งเห็นเจตนาที่ดีของสหกรณ์แห่งนี้จนต้องยอมควักสตางค์ร่วมกันลงแขก  ลงขัน  เพื่อให้อาคารสหกรณ์ที่พอเพียงแห่งนี้เป็นต้นแบบของอาคารสหกรณ์อื่น ๆ ทั่วประเทศ   ผมได้เคยบอกกับท่านประธานสหกรณ์ไว้ว่า  หากอาคารสหกรณ์ที่พอเพียงหลังนี้พูดได้ก็คงต้องพูดออกมาเป็นสำเนียง  เหน่อ ๆ แบบชาวเพชร   เหตุผลง่าย ๆ ที่ต้องพูดเหน่อแบบชาวเพชรก็เพราะมีความภาคภูมิใจที่ได้เกิดที่เมืองเพชรบุรี  ดินแดนที่อุดมสมบูรณ์ด้วยศิลปวัฒนธรรมและทรัพยากรธรรมชาติ  มีทั้งป่าไม้  ภูเขา  แม่น้ำ  ผืนดินอันอุดมสมบูรณ์  ชายฝั่งทะเลที่งดงาม   อาคารหลังนี้แท้จริงแล้วก็เพิ่งเดินมาได้เพียงครึ่งทางครับ  ยังมีงานอีกมากที่รออยู่ข้างหน้า  ไม่ว่าจะเป็นการคำนวณโครงสร้างในระบบทางวิศวกรรมแขนงต่าง ๆที่เกี่ยวข้องรวมทั้งการเขียนแบบพิมพ์เขียวและดำเนินการก่อสร้างแต่ผมเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า การเริ่มต้นด้วยสิ่งที่ดีก็จะเป็นผลให้ทุกอย่างก็คงดำเนินไปอย่างราบรื่นครับ

อาคารสหกรณ์ที่พอเพียง

    

อาคารสหกรณ์ที่พอเพียง

   

อาคารสหกรณ์ที่พอเพียง

  

อาคารสหกรณ์ที่พอเพียง