อพาร์ตเม้นท์หลังนี้เป็น เซอร์วิสอพาร์ตเม้นท์กึ่งโรงแรมที่น่าสนใจอีกรูปแบบหนึ่งที่ทีมสถาปนิกและวิศวกรบ้านไม่บานได้โกอินเตอร์ ฝากฝีไม้ลายมือของคนไทยไว้ที่ประเทศอินเดียครับ ก่อนอื่นผมขอย้อนกลับไปครั้งสมัยพุทธกาลเมื่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงตรัสรู้ธรรมแล้วได้เผยแพร่พระธรรมคำสอนตามเมืองน้อยใหญ่ในชมพูทวีป ตั้งแต่พระชนม์มายุ 36 พรรษา จนเจริญพระชนม์มายุถึง 80 พรรษา โดยในช่วง 25 ปี หลัง ได้ทรงประทับอยู่ที่เมืองสาวัตถีแห่งแคว้นโกศล ในอดีตซึ่งเป็นแคว้นที่รุ่งเรืองที่สุดแคว้นหนึ่ง ขณะนั้นมีพระเจ้า ปเสนทิโกศลเป็นกษัตริย์ปกครองนครที่สาวัตถี ในครานั้นท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีได้ถวาย สวนเชตวัน อันอุดมร่มรื่นซึ่งพระพุทธเจ้าได้ประทับอยู่ถึง 19 ปี และนางวิสาขาได้สร้างบุพพารามซึ่งเป็นวัดที่ 2 ในพระพุทธศาสนาถวาย ซึ่งในช่วงพรรษาที่ 21 - 44 ของพระองค์ได้ทรงใช้สวนเชตวันและบุพพารามเป็นศูนย์กลางในการเผยแพร่พระพุทธศาสนา โดยเหตุการณ์สำคัญมากมายของพระพุทธศาสนาได้เกิดขึ้นที่เมืองนี้และบริเวณรอบ ๆ
แม้จะเป็นแคว้นอันยิ่งใหญ่ในอดีตแต่ปัจจุบันพื้นที่บริเวณนี้กลับอยู่ในรัฐที่ยากจนและประชากรมีการศึกษาน้อยที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศอินเดีย แต่ในความล้าหลังและขาดดุลยภาพในการพัฒนานั้นพุทธสถานสำคัญโดยรอบเมืองนั้น อาทิ กรุงราชคฤห์, สวนเวฬุวันและ สวนเชตวัน ก็ยังเป็นพุทธสถานสำคัญที่มีพุทธศาสนิกชนทั่วโลกเดินทางมาสักการะรวมถึงพุทธศาสนิกชนชาวไทยด้วย โดยปกติที่ผ่าน ๆ มาผู้มาสักการะก็มักจะพักกันตามวัดพุทธศาสนาของแต่ละประเทศที่มีทั้ง ไทย จีน ญี่ปุ่น เกาหลี พม่า ฯลฯ เมื่อมีผู้มาสักการะเป็นจำนวนมากก็มักจะเกินกำลังต้อนรับของวัดต่าง ๆ บางครั้งทำให้ต้องเสียเงินทองไปจ่ายค่าโรงแรมคืนละหลายพันบาท ทางคณะพุทธศาสนิกชนชาวไทยผู้มีจิตศรัทธาคณะหนึ่งจึงได้มีเจตนากุศลที่จะสร้างที่พักสำหรับผู้เข้ามาปฏิบัติธรรมทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศจึงได้แจ้งความจำนงมากับทีมงานบ้านไม่บาน โดยมีความต้องการให้ออกแบบอาคารที่งามง่าย พอเพียง อันเป็นสถานที่พักที่สงบ ร่มเย็น สมถะ และ เรียบง่าย มีระบบการก่อสร้างที่รวดเร็วมีราคาย่อมเยาและง่ายต่อการบำรุงรักษาและที่สำคัญ คือ สามารถสะท้อนศิลปวัฒนธรรมในบริเวณนั้นที่ผสมผสานกับพุทธศิลป์จากเมืองไทยได้อย่างลงตัว
นอกจากนี้ยังได้นำหลักโหงวเฮ้ง 5+1 ประการของผมได้ หลักการนี้ถูกนำมาใช้อย่างครบถ้วนตั้งแต่การออกแบบอาคารให้สอด คล้องกับสภาพภูมิอากาศของประเทศอินเดียที่มีสภาพอากาศร้อนจัดในฤดูร้อน เรามักจะได้ยินข่าวเสมอถึงคลื่นความร้อนในอินเดียที่บางครั้งก็คร่าชีวิตผู้คนชาวภารตะไปคราละหลายร้อยชีวิต นอกจากนั้นวิธีการก่อสร้างซึ่งจำเป็นต้องใช้ช่างบางส่วนเป็นคนอินเดียก็จะมีความถนัดแตกต่างจากช่างในบ้านเรารวมถึงวัสดุก่อสร้างในอินเดียนั้นมีหินหลากหลายประเภท โดยเฉพาะหินอ่อนและหินทรายที่มีอยู่เป็นจำนวนมากอีกทั้งยังมีราคาถูกและสามารถหาแรงงานที่เป็นช่างหินได้ไม่ยาก เนื่องจากอาคารต้องสร้างอยู่ในแดนไกลในรัฐอุตรประเทศของอินเดียที่มีความเจริญไม่มากนัก ดังนั้นเมื่ออาคารสร้างเสร็จจะต้องมีค่าบำรุงรักษาที่ต่ำและมีอายุใช้งานที่ยืนยาว
บรรดาสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ได้ถูกนำมาปฏิบัติตั้งแต่การวางผังและออกแบบอาคาร ซึ่งเป็นการวางผังแบบผสมระหว่างแบบเปิดโล่งและแบบปิดล้อม ซึ่งแบบเปิดโล่งนั้น ก็เพื่อสะท้อนศิลปวัฒนธรรมไทย ที่จะมีกลุ่มอาคารเรียบง่ายตั้งอยู่ท่ามกลางสวนและเชื่อมต่อกันด้วยทางเดินมีหลังคาคลุมซึ่งการวางผังแบบเปิดนั้นจะใช้ในบริเวณพื้นที่ส่วนกลาง เช่น บริเวณอาคารต้อนรับ , ห้องอาหาร , ห้องพักอาศัย , ที่พักพระสงฆ์ ส่วนบริเวณพื้นที่ปิดล้อม จะใช้เป็นบริเวณที่พักของผู้ปฏิบัติธรรม เพราะการวางผังในลักษณะปิดล้อมจะช่วยให้เกิดความสงบส่วนตัวและปลอดภัย โดยกลุ่มอาคารจะเชื่อมกันทั้งหมดสำหรับพื้นที่บริเวณส่วนกลางได้ถูกออกแบบให้เป็นสวนดอกแก้วและสวนน้ำที่จะปลูกบัวหลากพันธุ์สะท้อนศิลปกรรมสวนแบบอินเดียที่มีอิทธิพลของศิลปแบบโมกุลของอิสลามสวนทั้ง 2 แบบที่ถูกใช้ผสมกันจะเกิดเป็นกลุ่มอาคารที่เต็มไปด้วยความสงบ ร่มเย็น เป็นสุข ได้กลิ่นไม้หอม ได้ฟังเสียงน้ำไหล ลมพัดเย็นสบาย แสงสว่างพอเพียงและประหยัดพลังงานไปพร้อมกัน
ในส่วนของการออกแบบอาคารได้นำลักษณะของอาคารในเขตร้อนแห้งและร้อนชื้นมาผสมกัน คือ อาคารมีชายคายื่นยาว มีแนวระเบียงขนาดใหญ่โดยรอบ แต่มีช่องเปิดน้อยจุดและช่องเปิดแต่ละจุดได้รับการออกแบบให้มีขนาดใหญ่เต็มที่เพื่อรับลมได้ดี ในขณะเดียวกันต้องสามารถป้องกันความร้อนจากแสงแดดและฝุ่นได้ดีด้วย สำหรับรูปทรงหลังคาเป็นการผสมผสานกันระหว่างปั้นหยากระเบื้องว่าวและหลังคาดาดฟ้าเรียบ ซึ่งเป็นวิธีการก่อสร้างที่สามารถสร้างได้รวดเร็วและมีราคาถูก นอกจากนั้นบางส่วนของอาคารหลังนี้ยังถูกออกแบบให้มีรูปทรงโดมแบบศิลปะอิสลามผสมผสานด้วยและในบริเวณส่วนที่เป็นสัญลักษณ์ของอาคารในการออกแบบยังได้ใส่ใจในรายละเอียดต่าง ๆ เช่น โคมไฟ, ลวดลายประดับตกแต่ง ฯลฯ ทำให้เกิดความเป็นเอกลักษณ์ ทรงค่า มีความงดงาม เชื้อเชิญผู้คนให้เข้ามาเยี่ยมเยือนรวมทั้งพำนักพักผ่อนอย่างอยู่เย็นเป็นสุข
กลุ่มอาคารที่พักบนพื้นที่ไม่ใหญ่นักแห่งนี้มีห้องพักสำหรับพระสงฆ์ 40 รูปและห้องพักสำหรับสำหรับฆราวาส 34 ห้อง แบ่งเป็นแบบธรรมดา 22 ห้อง และ แบบพิเศษ 12 ห้อง ห้องแต่ละห้อง อาคารแทบทุกส่วนมีแนวระเบียงและเสาลอยทั้งด้านหน้า ด้านหลัง ซึ่งจะช่วยทำให้เกิดความร่มเย็นเพราะสามารถกันแดดกันฝนได้ดีอีกทั้งยังให้บรรยากาศที่เงียบสงบเป็นส่วนตัวและมีความงามง่ายสมถะสมกับที่เป็นที่พักของผู้จาริกแสวงบุญที่เดินทางกันมาไกลเพื่อปฏิบัติธรรมและค้นหาสัจธรรมอันจะนำไปสู่หนทางแห่งการหลุดพ้นเช่นเดียวกับที่พระอรหันต์และผู้ใฝ่หาพระธรรมที่หลั่งไหลมาสู่เชตะวันเมื่อครั้งพุทธกาลย้อนกลับไปกว่า 2,500 ปี ล่วงแล้วครับ
ผมได้นึกถึงคำพูดของครูผม อาจารย์ ดร.ประเวศน์ ที่เคยสอนผมมานานแล้วว่า สถาปัตยกรรมศาสตร์หรือศาสตร์ที่ว่าด้วยการออกแบบบ้านเรือนนั้นแท้จริงแล้วเป็นธรรมศาสตร์หรือศาสตร์แห่งธรรม หากถูกนำมาใช้ในทางที่ถูกที่ต้องที่ควรทางจริยธรรมก็จะช่วยเหลือผู้คนให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เป็นศาสตร์ที่จะนำเราไปสู่กระบวนการบ้านสวย เมืองงาม สะท้อนความศรีวิไลของมนุษยชาติ ซึ่งอาคารบ้านเรือนนั้นก็เป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ที่สำคัญของมนุษย์ เซอร์วิส อพาร์ตเม้นท์และโรงแรมที่พักของผู้จาริกแสวงบุญ ณ สวนเชตวัน ที่อุตรประเทศหลังนี้ ก็ได้ถูกออกแบบมาเพื่อรับใช้มวลมนุษย์ผู้เดินทางไปจาริกแสวงบุญและได้ตอกย้ำทำให้ผมเชื่อในคำสอนของครูที่ว่า สถาปัตยกรรมศาสตร์ คือ ศาสตร์แห่งธรรมนั่นเองครับ
|